.

https://www.blockdit.com/posts/6399420317706a0f973afc2f

60 Plus Bakery & Café กับบทบาทในฐานะพันธมิตรด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทย (APEC Communication Partner)

แม้การประชุมเอเปค ๒๐๒๒ จะจบไปแล้ว แต่เรื่องราวที่น่าสนใจยังไม่จบลงเท่านั้น เพราะวันนี้ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับอีกหนึ่งพันธมิตรด้านการสื่อสาร (Communication Partner) ของการประชุมครั้งนี้ นั่นก็คือ 60 Plus Bakery & Café

APEC Chocolate
บูธของ 60 Plus Bakery & Cafe

60 Plus Bakery & Café ดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมผู้พิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Development Center on Disability: APCD) และได้มาจัดแสดงบูธ แจกขนมและช็อกโกแลตฟองดู รวมทั้งขายผลิตภัณฑ์ของ 60 Plusฯ ภายในศูนย์สื่อมวลชน ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคให้ได้ชิมตลอดทั้งวันด้วย

APEC Chocolate
บูธของ 60 Plus Bakery & Cafe

และเพื่อให้ทุกท่านได้รู้จักกับพันธมิตรรายสำคัญรายนี้ของเราดียิ่งขึ้น ผมจึงขอนำบทสัมภาษณ์ของท่านทูตพิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก ที่ได้ให้เกียรติและสละเวลาให้ทีมงาน Blockdit กระทรวงการต่างประเทศ ได้สัมภาษณ์ เพื่อนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านทุกท่านในวันนี้ ถ้าทุกท่านพร้อมแล้ว เรามาทำความรู้จักที่มาที่ไปของ 60 Plus Bakery & Café กันเลยดีกว่าครับ

APEC Chocolate
บูธของ 60 Plus Bakery & Cafe


    
ก่อนอื่น ขอแนะนำศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) ให้ผู้อ่านทราบสักหน่อยครับ

ท่านทูตพิรุณ ลายสมิต
ท่านทูตพิรุณ ลายสมิต ขณะให้สัมภาษณ์

ท่านทูตพิรุณเล่าว่า ศูนย์ APCD ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ปัจจุบัน มีอายุ ๒๑ ปี โดยเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของไทย

หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ช่วงนั้นเป็นทศวรรษของผู้พิการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดังนั้น รัฐบาลของสองประเทศจึงเห็นตรงกันว่า ควรมีศูนย์ฝึกอบรมผู้พิการขึ้น และได้เลือกสถานที่ตั้งเป็นประเทศไทย เนื่องจากยังเป็นที่ตั้งของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน

ปัจจุบัน ศูนย์ APCD ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีลักษณะเป็น NGO หรือมูลนิธิ เพื่อให้ศูนย์ฯ ทำงานได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น มีนายเตช บุนนาค เป็นประธาน สำหรับที่มาของชื่อร้าน 60 Plus นั้น มาจากการก่อตั้งในปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ขณะที่ Plus ก็หมายถึงการบวกเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือทรงพระเจริญนั่นเอง

ภายในร้าน 60 Plus Bakery & Café มีการฝึกอบรมสำหรับผู้พิการด้วยกันสามหลักสูตร ได้แก่ (๑) การทำขนมปัง เบเกอรี่ สนับสนุนโดยบริษัทยามาซากิ (๒) การทำช็อกโกแลต และเครื่องดื่มจากช็อกโกแลต และ (๓) การทำงานบริการโรงแรม รวมถึงร้านอาหารและภัตตาคาร โดยแต่ละปีจะมีผู้พิการเข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรละ ๒๐ - ๓๐ คน และมีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการฝึกอบรม

การทำ chocolateของร้าน 60 Plus Bakery & Cafe
การทำ chocolateของร้าน 60 Plus Bakery & Cafe

และที่มาที่ไปของการได้เข้ามามีส่วนร่วมการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยเป็นอย่างไร ?

สำหรับการประชุมเอเปค ๒๐๒๒ ที่เพิ่งจบไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนนั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศูนย์ APCD ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐในด้านการต่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ๒๐๑๙ เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ซึ่งศูนย์ APCD ก็ได้มีส่วนในการแสดงศักยภาพของไทยในการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ผู้พิการ รวมทั้งส่งเสริมสินค้าของไทยไปสู่สายตาชาวโลกด้วย

ด้านชีวภาพ มีการพัฒนาและใช้วัตถุดิบชีวภาพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต ขณะที่ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการสนับสนุนการลดการใช้ถุงพลาสติก และเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ และในส่วนของเศรษฐกิจสีเขียว ศูนย์ APCD ก็มีการใช้กระดาษแทนพลาสติกมากขึ้น แม้ตอนนี้จะยังไม่มีสิ่งที่เชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เท่าใดนัก ด้วยความที่เป็นกรอบโมเดลเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ต่างจากภารกิจของศูนย์ APCD ที่มีภารกิจแตกต่างกัน โดยเน้นขับเคลื่อนด้านมนุษย์มากกว่า แต่ท่านทูตก็บอกว่าพร้อมที่จะสนับสนุนและนำโมเดลนี้มาปรับใช้

ในช่วงการจัดการประชุมเอเปค ๒๐๒๒ ศูนย์ APCD ได้รับโอกาสจากกระทรวงการต่างประเทศให้แสดงตัวอย่างการปฏิบัติงานและการส่งเสริมอาชีพผู้พิการ ให้แก่สายตาผู้แทนระดับสูงจากต่างประเทศ โดยท่านทูตเสริมว่า มีผู้แทนจากญี่ปุ่นได้มาพูดคุยและชิมผลิตภัณฑ์ที่บูธ 60 Plus นานกว่า ๔๐ นาที และหวังว่าหลังจากนี้จะมีชาวต่างชาติสั่งซื้อวัตถุดิบสำหรับผลิตช็อกโกแลตจาก 60 Plus มากขึ้น

ท่านทูตทิ้งท้ายว่า ช่วงนี้การประชุมเอเปคเพิ่งจบไป และเทศกาลคริสมาสต์ก็กำลังใกล้เข้ามา หากใครต้องการซื้อช็อกโกแลตเป็นของฝาก ของที่ระลึกงานเอเปค หรือของขวัญสำหรับช่วงปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง สามารถแวะมาที่ร้าน 60 Plus Bakery & Café และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่เพจเฟซบุ๊กนี้ครับ https://www.facebook.com/60PlusBakeryandCafe/

และหลังพูดคุยกับท่านทูตพิรุณเรียบร้อยแล้ว ทางทีมงานก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณชูเกียรติ สุนทรสุขกิจ ผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งรับหน้าที่ทำเครื่องดื่ม และขายช็อกโกแลตภายในร้านครับ ซี่งคุณชูเกียรติฯ แอบบอกว่า สินค้าช็อกโกแลตขายหมดแทบทุกวัน ต้องเติมสินค้าทุกวัน แม้งานจะจบแล้วก็ยังต้องทยอยส่งสินค้าทางไปรษณีย์อยู่

คุณชูเกียรติ สุนทรสุขกิจ ขณะให้สัมภาษณ์
คุณชูเกียรติ สุนทรสุขกิจ ขณะให้สัมภาษณ์

คุณชูเกียรติฯ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการจัดบูธในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อสามปีที่แล้ว และกล่าวว่ามีลักษณะที่คล้ายกับการประชุมเอเปค เพียงแต่มีผลิตภัณฑ์และขนมที่นำไปแจกจ่ายมากขึ้น และภายในศูนย์สื่อมวลชนก็มีบูธที่ดูแปลกใหม่ สวยงาม อีกทั้งยังได้มีโอกาสรับชมการแสดง ชิมอาหารและขนมในศูนย์สื่อมวลชนที่ได้นำมาแสดงมากมาย ทำให้มีความสุขกับการจัดงานฯ ครั้งนี้มาก รวมถึงยังได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว โดยมีล่ามภาษามือมาช่วยสื่อสารให้

และถึงแม้เอเปคจะจบไปแล้ว แต่บทบาทของพันธมิตรก็ยังไม่จบลง จากที่ท่านทูตได้บอกเล่าถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG และธีมเอเปค “Open. Connect. Balance.” ครั้งนี้ เรามาร่วมกันติดตามและเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ Bangkok Goals on BCG Economy เพื่อให้สานต่อผลการประชุมเอเปคครั้งนี้ให้ประสบความสำเร็จต่อไปในระยะยาวกันนะครับ

สัมภาษณ์โดย นางสาวยาใจ บุนนาค
นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา)

เรียบเรียงโดย นายสิรภพ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าวฯ
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ที่มา: https://www.blockdit.com/posts/6399420317706a0f973afc2f

 

Category